สุภาษิต คือ คำในภาษาไทยที่ใช้ในการสื่อสารเชิงเปรียบเทียบอุปมาอุปมัย และเป็นเชิงสั่งสอนหรือให้ข้อคิด หรือตักเตือนไปในทางบวกคือให้ความหมายในแง่ดีเป็นหลัก โดยสุภาษิตมักจะถูกแต่งให้คล้องจองเรียงร้อยกันฟังแล้วรื่นหู เพื่อให้จดจำได้ง่าย
คำพังเพย หมายถึง ถ้อยอุปมาที่กล่าวกระทบเสียดสี ซึ่งมาจากเหตุการณ์เรื่องราว หรือความเป็นไปในวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อนที่เป็นสิ่งควรค่าแก่การเรียนรู้ และจดจำเป็นอย่างยิ่ง โดยคำพังเพยจะเป็นถ้อยคำที่มีความหมายลึกซึ้งกว่าสำนวนไทย พร้อมทั้งมีลักษณะติชม หรือแสดงความเห็นอยู่ในตัว แต่ไม่ถึงกับเป็นคำสอนหรือคำสั่งสอนให้ข้อคิดเหมือนสุภาษิต ดังตัวอย่างต่อไปนี้
สำนวน
๑. สำนวน “กาฝาก” มีความหมายว่า การแฝงตัวอาศัยอยู่กับผู้อื่นโดยที่ไม่ช่วยเหลือ
หรือทำประโยชน์อะไรให้ คอยแต่จะเกาะเอาประโยชน์จากผู้อื่น
ที่มาของสำนวน กาฝาก
มาจากกาฝาที่เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีขนาดเล็ก เกิดและเกาะอยู่กับต้นไม้ใหญ่ โดยอาศัยอาหารในต้นไม้ใหญ่หล่อเลี้ยงลำต้นมันเอง
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน “เธอนี่มันกาฝากชัดๆ
มาขอเข้าร่วมงานกลุ่มด้วยแต่ไม่เคยให้ความร่วมมือหรือช่วยงานอะไรเลย
แล้วยังจะกล้ามาเรียกร้องหาความสงสารอยู่อีกหรอ?”
๒. สำนวน “ไก่โห่” มีความหมายว่า เวลารุ่งสาง, ก่อนเวลานัดหมาย
ที่มาของสำนวน ไก่โห่ มาจากธรรมชาติของไก่ พอฟ้าเริ่มสางก็ขัน
เสียงไก่ขันจึงเป็นสัญญาณว่าเริ่มสางแสงเงินแสงทองกำลังจะขึ้น
หรือเวลารุ่งเช้าพระอาทิตย์กำลังเคลื่อนขึ้นสู่ท้องฟ้า
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน “ไม่ต้องกลัวว่ายุภาพรจะมาเรียนวิชาอาจารย์กวางสายหรอก
เพราะปกติก็มารอตั้งแต่ ไก่โห่ แล้ว”
๓. สำนวน “ดาบสองคม” มีความหมายว่า การกระทำที่อาจทำให้เกิดทั้งผลดีและผลเสีย ที่มาของสำนวน ดาบสองคม
มาจากการเปรียบเทียบกับมีดดาบ
ซึ่งถ้ามีคมทั้งสองข้างก็ย่อมเป็นประโยชน์ใช้ฟันได้คล่องแคล่วดี
แต่ในขณะที่ใช้คงด้านหนึ่งฟันลง คมอีกด้านหนึ่งอาจโดนตัวเองเข้าได้
การทำอะไรที่อาจเกิดผลดีและผลร้ายได้เท่ากัน จึงเรียกว่า เป็นดาบสองคม
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน “การสอนเรื่องเพศศึกษาให้กับเด็กก็เหมือนดาบสองคมที่ทำให้เด็ก
เข้าใจและรู้จักป้องกันตัวเอง
แต่อีกด้านก็ทำให้เด็กเห็นช่องทางในการทำเรื่องไม่สมควรได้มากขึ้น
๔. สำนวน “ใจปลาซิว” มีความหมายว่า ใจเสาะ ไม่อดทน ยอมแพ้ง่าย
ที่มาของสำนวน ใจปลาซิว มาจากเปรียบเทียบกับปลาซิวที่เป็นปลาน้ำจืดตัวเล็กๆ
อยู่เป็นฝูง ชอบอยู่ในแหล่งน้ำใส ถ้าน้ำขุ่นจะลอยหัวขึ้นมาที่ผิวน้ำ
เมื่อจับขึ้นมาพ้นน้ำจะตายทันที จึงนำลักษณะของปลาซิวมาเปรียบกับคนที่ไม่มีความอดทนใจเสาะกลัวหรือร้องไห้ง่ายๆ
ว่ามีใจเหมือนปลาซิว
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน “หมอยังไม่ทันจะฉีดยาให้
ก็เป็นลมไปซะแล้ว ใจปลาซิวจริงๆ”
๕. สำนวน “ถึงพริกถึงขิง” มีความหมายว่า การแสดงถึงความดุเดือด
ดุเด็ดเผ็ดมัน เผ็ดร้อนรุนแรง
หรือรุนแรงเต็มที่
ที่มาของสำนวน ถึงพริกถึงขิง มาจากการปรุงอาหารแล้วใส่พริกหรือมีรสเผ็ด
และขิงที่มีรสร้อน เมื่อใส่มากก็จะมีรสทั้งเผ็ดทั้งร้อน การทำอะไรที่รุนแรงเต็มที่
หรือการกล่าวถ้อยคำที่รุนแรง
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน
“มิ้นและป๋อม สองคนนี้เป็นคู่กัดกันมาตั้งแต่เรียนปี๑
เจอหน้ากันทีไรก็ต้องปะทะคารมกันอย่างถึงพริกถึงขิง
ชนิดไม่มีใครยอมใครเลยทีเดียว”
๖. สำนวน “ดินพอกหางหมู” มีความหมายว่า
นิสัยที่ชอบปล่อยให้การงานคั่งค้างสะสม ผัดวันประกันพรุ่ง เกียจคร้าน
ไม่ยอมทำให้สิ่งนั้นสำเร็จเสร็จสิ้นโดยเร็ว
จนในที่สุดการงานต่างก็สะสมพอกพูนขึ้นจนยากที่จะสะสางให้เสร็จได้โดยง่าย
ที่มาของสำนวน ดินพอกหางหมู มาจากธรรมชาติของหมูในอดีตที่มักอาศัยอยู่ในป่าหรือแห่งที่เป็นโคลนตม
โคลนมักจะติดปลายหางแห้งแล้วก็ติดใหม่ พอกพูนโตขึ้นจนเป็นก้อนใหญ่อยู่ที่ปลายหาง
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน “ป่อมชอบไม่ทำการบ้านเอาเวลาไปเล่นเกม
ค้างงานไว้เรื่อยๆเป็นดินพอกหางหมู พอถึงวันกำหนดส่งก็ทำไม่ทันส่งอาจารย์”
๗. สำนวน “ปลาหมอตายเพราะปาก” มีความหมายว่า
คนที่พูดพล่อยจนได้รับอันตราย หรือ
คนที่พูดจาไม่ระวังจนนำอันตรายหรือความลำบากมาสู่ตนเอง
ที่มาของสำนวน ปลาหมอตายเพราะปาก
มาจากปลาหมอเป็นปลาที่ชอบลอยตัวอยู่บนผิวน้ำเพื่อรับออกซิเจน โดยการอ้าปากพร้อมกับลอยตัวกันเป็นกลุ่มๆ
และมักชอบผุดขึ้นกินเหยื่อบ่อยๆ พฤติกรรมดังกล่าว
จนเป็นที่สังเกตของนักจับปลาได้ว่าปลาหมออยู่ตรงไหน ก็เอาเบ็ดล่อลงไปตรงนั้น จึงเรียกว่า “ปลาหมอตายเพราะปาก” นั่นเอง
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน “ได้ข่าวว่าเธอถูกหวยรางวัลที่๑
แล้วโพสต์อวดใครต่อใครบนเฟสบุ๊ค
จนเป็นเหตุให้ถูกดักปล้นชิงทรัพย์สินระหว่างไปเบิกเงิน แบบนี้เข้าทำนองปลาหมอตายเพราะปากแท้ๆ”
๘. สำนวน “พูดเป็นต่อยหอย” มีความหมายว่า พูดจาฉอดๆไม่หยุดปาก
ที่มาของสำนวน เข้าใจว่ามาจากหอยนางรม คือ
หอยนางรมเป็นหอยจับอยู่ ตามก้อนหิน เวลาจะเอาตัวหอยต้องต่อยออกจากก้อนหิน
การต่อยต้องต่อยเรื่อย ๆไปไม่หยุดมือ เสียงดังอยู่เรื่อยๆตลอดเวลา
ตัวอย่างการนำไปใช้ “ตอนเข้ามาปีหนึ่งใหม่ๆ ศรีเพชร เป็นคนเงียบๆไม่ค่อยพูดสงสัยจะเก็บกดพอปีสามพูดเป็นต่อยหอยไม่รู้จักหยุดเลย”
๙. สำนวน “น้ำกลิ้งบนใบบอน” มีความหมายว่า คนที่มีจิตใจกลับกลอก ปลิ้นปล้อน พูดแก้ตัวไปเรื่อย
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบอน จะมีลักษณะเป็นก้อนดิ้นไปดิ้นมา
ปัจจุบันมักถูก นำมาเปรียบเปรยกับสาวที่มีจิตใจไม่มั่นคง
ตัวอย่างการนำไปใช้ “นี่เธออย่ามัวไปเสียเวลากับเขาเลยคนประเภททำตัวเป็นน้ำกลิ้งบนใบบอนไม่สมควรที่จะพูดคุยด้วย"
๑๐.สำนวน “ช้าๆได้พร้าเล่มงาม” มีความหมายว่า ค่อยๆคิดค่อยๆทำผลงานจะสำเร็จได้ด้วยดี
ที่มาของสำนวน การนำเหล็กมาตีเป็นมีดพร้าสักเล่มนั้น หากรีบร้อนตีก็จะทำให้พร้ามีผิวที่ไม่เรียบเนียนและไม่แข็งแรง
หากค่อยๆตีค่อยๆทำก็จะทำให้พร้ามีความสวยงามมากขึ้น
ตัวอย่างการนำไปใช้ “การจะฝึกฝนแต่งหน้าเค้กให้สวยงาม ต้องใจเย็นๆอย่ารีบร้อน อย่าลืมว่า
ช้าๆได้พร้าสองเล่มงาม”
คำพังเพย
๑. คำพังเพย “น้ำขึ้นให้รีบตัก” มีความหมายว่า
เมื่อมีโอกาสหรือจังหวะดีๆ ในการทำมาหากิน ผ่านเข้ามาควรรีบคว้า ฉวยโอกาสนี้ไว้
อย่าปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย
ที่มาของสำนวน น้ำขึ้นให้รีบตัก มาจากการเอาน้ำในแม่น้ำลำคลองมาเปรียบเทียบ เวลาน้ำขึ้นหรือมีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองจนเต็มให้รีบตักไว้ใส่ตุ่ม
หรือภาชนะบรรจุน้ำขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บไว้ใช้ แต่หาก เพิกเฉยน้ำลดแห้งไปก็ตักไม่ได้
ตัวอย่างการนำไปใช้งาน
“ท่านประธานกล่าวในที่ประชุมว่า
ตอนนี้สินค้าของบริษัทแปรรูปขยะของ เรากำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก
โอกาสมาถึงแล้วน้ำขึ้นให้รีบตัก เพราะฉะนั้น เราต้องฉวยโอกาสนี้ไว้
โดยการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าแปรรูปต่างๆ ตามความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด”
๒.คำพังเพย “ตำข้าวสารกรอกหม้อ” มีความหมายว่า การทำงานแบบพอกินพอใช้
ทำให้เสร็จไปครั้งหนึ่งๆ ทำให้พ้นๆไปแต่ละวัน โดยไม่คิดถึงวันข้างหน้า
ที่มาของสำนวน มาจากสมัยโบราณยังไม่มีโรงสีข้าว จึงต้องนำเอาเมล็ดข้าวมาตำเพื่อกะเทาะเปลือกออก
ด้วยครกกระเดื่องจึงเอาเมล็ดข้าวมาหุงกินได้ การตำข้าวควรทำให้เก็บไว้หุงได้นาน
ตัวอย่างการนำไปใช้ “แม่ค้าร้านนี้เปิดร้ายขายอาหารเหมือน ตำข้าวสารกรอกหม้อจริงๆ บางวันก็เปิด บางวันก็ปิด วันไหนฉันอยากจะกิน ไม่เคยจะได้กินเลย”
๓. คำพังเพย “จับปูใส่กระด้ง” มีความหมายว่า การห้ามปราม
ห้ามแล้วห้ามอีกแต่ก็ยังเป็นเช่นเดิม
ที่มาของสำนวน ตามธรรมชาติของปูจะอาศัยอยู่ในรูเมื่อใดก็ตาม
ถ้าปุออกมาอยู่ในที่โล่งมันจะเดินไปมาไม่ อยู่นิ่ง
หากนำปุมาใส่กระด้งที่มีขอบสูงเพียงนิดเดียวปูก็จะไต่กันเพ่นพ่านจนไล่จับกันไม่ทัน
ตัวอย่างการนำไปใช้ “งานประกวดการแสดงของเด็กอนุบาลนี่
ทำเอาครูพี่เลี้ยงเหนื่อยไปตามๆกันกว่าจะเป็น แบบนี้ได้ก็เหมือนตามจับปูใส่กระด้ง เด็กๆวิ่งกันให้วุ่นไปหมด” หรือ “กว่าจะหลอกล่อให้เด็กๆ
อยู่นิ่งๆเพื่อถ่ายรูปได้เหมือนจับปูใส่กระด้งจริงๆ”
๔.คำพังเพย “เด็ดดอกไม้ร่วมต้น” มีความหมายว่า
ชาติก่อนเคยทำอะไรๆร่วมกันมาชาตินี้จึงมาอยู่ร่วมกัน
ที่มาของสำนวน มาจากความเชื่อเกี่ยวกับการเคยสร้างบุญร่วมกันมา
คนไทยมีความเชื่อในเรื่องบุญกรรมและเรื่องชาติภพว่าคนเราจะต้องเกิดและตายวนเวียนไป
เช่นนี้จนกว่าจะพ้นทุกข์ เด็ดดอกไม้ร่วมต้น จึงหมายถึงเด็ดดอกไม้ไปทำบุญหรือไปไหว้พระด้วยกันเพื่อจะได้ไปเกิด
ร่วมกันและพบกันอีก
ตัวอย่างการนำไปใช้ “สงสัยชาติก่อนเราต้องเคย เด็ดดอกไม้ร่วมต้นกัน
เกิดมาชาตินี้จึงได้เป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนกัน”
๕.คำพังเพย “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” หมายความว่า การพึ่งพาอาศัยกันโดยเอื้อประโยชน์แก่กัน
ที่มาของสำนวน เป็นการเปรียบเทียบถึงเรือหากจะลอยน้ำได้ก็ต้องมีน้ำมาหนุนเรือ
ซึ่งจะทำให้การสัญจรทางแม่น้ำลำคลองนั้นสะดวก และเปรียบเทียบถึงเสือกับป่าก็ต้องมีป่าให้อยู่อาศัย
และป่าเมื่อมีเสือก็จะมีวัฎจักรของป่าเกิดขึ้น
ตัวอย่างการนำไปใช้ “นี่เธอบริษัทตรงข้ามเราที่ฉันจะไปพบเขากับพรุ่งนี้ เป็นพันธมิตรที่ดีมากๆ
บริษัทเรากับเขาช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด เปรียบเสมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าเลยนะ”
สุภาษิต
๑. สุภาษิต“ผิดเป็นครู”มีความหมายว่า การนำสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้วมาเป็นบทเรียน
แล้วแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเพื่อไม่ให้ทำผิดอีก
ที่มาของสำนวน เป็นคำพูดของคนโบราณที่ใช้ในการสอนคนเราทุกๆคน
สามารถทำผิดพลาดกันได้ ฉะนั้นจึงมีการเปรียบเทียบความผิดที่เกิดขึ้น หากใครสามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนถือว่าผิดเป็นครู
ตัวอย่างการนำไปใช้ “เธออย่ามัวแต่เศร้ากับเรื่องราวที่ผ่านมาเลย ผิดเป็นครู ถือว่าเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเรา
คนที่เขาประสบความสำเร็จล้วนเคยทำผิดพลาดมาด้วยกันทั้งนั้น”
๒.สุภาษิต “ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว” มีความหมาย คนเราทำอะไรก็จะได้อย่างนั้น
ที่มาของสำนวน สมัยก่อนโบราณท่านใช้สอนคนให้กระทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว
เพราะเมื่อเราทำดี เราก็จะได้ผลดีเป็นการตอบแทน ในทางกลับกัน ถ้าทำแต่ความชั่ว
เราก็ได้สิ่งที่ไม่ดีเป็นการตอบแทน
ตัวอย่างการนำไปใช้ “เธอทำดีด้วยการช่วยเหลือผู้อื่นขนาดที่ผู้อื่นเดือดร้อน
ผลแห่งกรรมดีคือ จะมีคนชื่นชมและยกย่อง แต่ในทำนองกลับกันถ้าเธอขโมยของก็จะโดนตำรวจจับและไม่เป็นที่ยอมรับของคนในสังคมดั่งคำที่ว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว”
๓. สุภาษิต“มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท” มีความหมายว่า การรู้จักเก็บหอมรอมริบ
ค่อยเก็บสะสมเงินที่ละเล็กทีละน้อย เผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
ที่มาของสำนวน มาจากสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ที่ปรากฎอยู่ในวรรณกรรม เนื้อหาเป็นการสอนสตรีในด้านต่างๆแสดงให้เห็นว่าผู้ประพันธ์ค่อนข้างมีความคิดทันสมัย
และเห็นความสำคัญของเศรษฐกิจการเรือนที่อยู่ในมือของผู้หญิง
ตัวอย่างการนำไปใช้ “ศรีเพชรจะบอกเพื่อนๆเสมอว่า
มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท แค่รู้จักเก็บออมที่ละเล็กทีละน้อย เก็บตอนนี้จนเรียนจบ
ก็มีเงินเก็บมากมายแล้ว”
๔. สุภาษิต“ให้ทุกข์แก่ท่านทุกนั้นถึงตัว” มีความหมายว่า ทำอะไรไม่ดีไว้กับผู้อื่น
สิ่งนั้นก็จะย้อนมาเกิดกับเราเหมือนกัน
ที่มาของสำนวน มาจากพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “ ทุกขะโต ทุกขะถานัง “ แปลว่า ให้ทุกข์แก่ท่านทุกนั้นถึงตัว
ตัวอย่างการนำไปใช้ “ฉันเตือนแล้วว่าอย่าใช้อารมณ์ในการแก้ไขปัญหา
นายไล่ผู้จัดการฝ่ายขายออกเพราะไม่ชอบเขา แล้วเป็นไงละ ตอนนี้ยอดขายนายตกอย่างหนัก
ให้ทุกข์แก่ท่านทุกนั้นถึงตัว จริงๆ”
๕.สุภาษิต “เรียนผูกต้องเรียนแก้”มีความหมายว่า รู้วิธีทำหรือสร้างปัญหาขึ้นมาก็ต้องรู้จักหาทางแก้ไขปัญหา
ที่มาของสำนวน เป็นการเปรียบเทียบปัญหากับปมเชือกที่ผูกมัด
ผู้ใดที่เป็นคนผูกก็ย่อมจะรู้วิธีแก้ดีกว่าคนอื่นหรือต้องรับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง
ตัวอย่างการนำไปใช้ “แม่มักจะสอนฉันเสมอว่าจำไว้นะลูกไม่มีใครเกิดมาไม่เคยผิดพลาด ลูกเรียนผูกต้องเรียนแก้
จะได้โตเป็นผู้ใหญ่”
อ้างอิง
ความหมายของสำนวน
สุภาษิต และคำพังเพย. ค้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2561. จาก https://www.wordyguru.com/.
คำสุภาษิตไทยพร้อมความหมาย.
ค้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2561. จาก http://www.tewfree.com.
นิคม เขาลาด. (2536). สุภาษิต
คำพังเพย. กรุงเทพฯ : วิสิทธิ์พัฒนา.
อานนท์ อาทิตย์อุทัย. (2558).
สำนวนไทย สำนวนธรรม. กรุงเทพฯ : แสงดาว.
เอกรัตน์
อุดมพร.(2550).2,000 สำนวนไทย. กรุงเทพมหานคร. พัฒนาศึกษา
จัดทำโดย
นางสาวกนกวรรณ ดาราษฎร์ รหัส 033
นางสาวสาวยุภาพร เรืองอุไร
รหัส 046
รุ่น 59/04 สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์